เครื่องหมาย อย. คืออะไร ? มีเลขที่จดแจ้งปลอดภัยจริงหรือไม่

Last updated: 23 พ.ย. 2565  |  21029 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เครื่องหมาย อย. คืออะไร ? มีเลขที่จดแจ้งปลอดภัยจริงหรือไม่

เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยิน และเคยเห็น เครื่องหมาย อย. กันมาบ้าง แต่จะมีสักกี่คน ที่รู้ถึงความสำคัญและเข้าใจเครื่องหมาย อย. ว่าคืออะไร ?  เครื่องหมาย อย. มีสินค้าอะไรบ้าง ? และสินค้าที่มีเครื่องหมาย อย. ของแท้เช็คยังไง ? ในบทความนี้เราได้รวบรวมมาให้แล้วค่ะ

 

เครื่องหมาย อย. คืออะไร ?

เครื่องหมาย อย. คือ สัญลักษณ์ที่ย่อมาจาก “สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา” หรือ Food and Drug Administration เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ  ได้ผ่านการพิจารณาด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย ถูกต้อง ตรงตามมาตรฐานเกณฑ์การผลิต หรือการนำเข้า จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา


ประโยชน์ของเครื่องหมาย อย.

  ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสถานที่ และชื่อบริษัทที่ทำการผลิตหรือจดแจ้งได้

  ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิคุ้มครองจากคณะกรรมการอาหารและยาได้ หากเกิดอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่มี อย.

  ช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบ และรู้เท่าทันภัยที่มาจากสินค้า รวมไปถึงการที่มีผู้บริโภคสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้ตนเองได้ โดยการทราบส่วนผสมที่ทางผู้ผลิตได้จดแจ้งไว้กับ อย.

  ช่วยเสริมความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ว่าเมื่อนำมารับประทาน หรือใช้งาน จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ด้วยการสังเกต สัญลักษณ์ อย.

  ทำให้ผู้บริโภครู้สึกปลอดภัย เพราะหน่วยงานของ อย. เองจะมีการตรวจผลิตภัณฑ์ ก่อนการจดแจ้งหรือสุ่มตรวจสินค้าอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าสินค้าที่มีสัญลักษณ์จะมีคุณภาพและปลอดภัยอยู่เสมอ

  มีส่วนสำคัญในการเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจจากผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้สามารถสร้างฐานลูกค้า และผลกำไรตามมาได้อย่างมากมาย

 

 เครื่องหมาย อย. มีในสินค้าอะไรบ้าง ?

ผลิตภัณฑ์บางชนิดไม่มีสัญลักษณ์ อย. แต่ก็ผ่านการรองรับโดย อย. เหมือนกัน เนื่องด้วย กฎหมายระบุให้ผู้ผลิต หรือ ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง ต้องมาขอขึ้นทะเบียน หรือ ขอจดแจ้งผลิตภัณฑ์ก่อนผลิต/นำเข้า/จำหน่าย เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคในเบื้องต้น และเมื่อได้รับการอนุมัติจาก อย. แล้ว จึงจะนำออกวางจำหน่ายในท้องตลาดได้ อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นจะมีทั้งแบบมีและไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยแบ่งหมวดหมู่ได้เป็นดังนี้

  ผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย.

  • ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเครื่องหมาย อย. จะเรียกเครื่องหมาย อย. ที่แสดงบนฉลากว่า เลขสารบบอาหาร จะเป็นตัวเลข 13 หลัก

  • ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ต้องมีใบอนุญาต มี อักษร ผ. หมายถึงผลิต หรือ มีอักษร น. หมายถึงนำเข้า ตามด้วยตัวเลข xxxx/ปี พ.ศ. ผลิตภัณฑ์ที่ต้องแสดง เช่น ถุงยางอนามัย ถุงมือยางสำหรับศัลยกรรม ชุดตรวจเชื้อเอชไอวี คอนแทคลนส์ (เลนส์สัมผัส)

  • ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายทางสาธารณสุข (ใช้ในบ้านเรือน) มีอักษร วอส. ตามด้วยตัวเลข xxxx/ปี พ.ศ. ผลิตภัณฑ์ที่ต้องแสดง เช่น ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว

  ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย.

  • ผลิตภัณฑ์ยา ต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนก่อนการผลิตยา นำเข้ายา แต่แสดงในรูปแบบของเลขทะเบียนตำรับยา

  • ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ต้องจดแจ้งเครื่องสำอางก่อน และแสดงในรูปแบบของจะได้เลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลักบนฉลาก คือ xx-x-xxxxxxx

  • เครื่องมือแพทย์ที่ต้องแจ้งรายการละเอียด ต้องแสดงเลขที่ใบรับแจ้ง ได้แก่ เครื่องที่ใช้เพื่อกายภาพบำบัด เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในร่างกาย เต้านมเทียมซิลิโคน

  • เครื่องมือแพทย์ทั่วไป (เครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้อยู้ในรายการเครื่องมือแพทย์ที่ต้องมีใบอนุญาต เครื่องมือแพทย์ที่ต้องแจ้งรายการละเอียด) ไม่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย. หรือเลขที่ใบรับแจ้ง เช่น เตียงผ่าตัด เครื่องตรวจวัดความดันโลหิต

  • วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย. แต่ต้องมีเลขที่ใบรับแจ้ง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ฝาผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ วัตถุต่าง ๆ ที่มีสารที่ อย.กำหนด

 

รูปแบบเครื่องหมาย อย. ที่ถูกต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ?

 

  กลุ่มที่ 1 บอกจังหวัดและที่ตั้งของสถานที่ประกอบการ รหัสตัวเลข 2 หลักแทนตัวอักษรย่อของจังหวัด

  กลุ่มที่ 2 บอกสถานะของสถานประกอบการและหน่วยงานที่อนุญาต
สถานที่นั้น ๆ ใช้รหัสตัวเลข 1 หลัก

  • หมายเลข 1 หมายถึง สถานที่ผลิตอาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้อนุญาต

  • หมายเลข 2 หมายถึง สถานที่ผลิตอาหารที่ จังหวัดเป็นผู้อนุญาต

  • หมายเลข 3 หมายถึง สถานที่นำเข้าอาหาร ที่สำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้อนุญาต

  • หมายเลข 4 หมายถึง สถานที่นำเข้าอาหารที่จังหวัดเป็นผู้อนุญาต

  กลุ่มที่ 3 บอกเลขสถานที่ผลิตอาหารหรือเลขสถานที่นำเข้าอาหารที่ได้รับใบอนุญาตและปี พ.ศ. ที่อนุญาต ใช้รหัสตัวเลข 5 หลัก โดย 2 หลักหลังเป็นเลขท้ายของปี พ.ศ. ที่อนุญาตสถานที่นั้น ๆ

  กลุ่มที่ 4 บอกหน่วยงานที่ออกเลขสารบบอาหารให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้า ใช้รหัสตัวเลข 1 หลัก

  กลุ่มที่ 5 บอกลำดับที่ของอาหารที่ผลิต หรือนำเข้า ของสถานที่แต่ละแห่ง แยกตามหน่วยงานที่เป็นผู้อนุญาต ใช้รหัสตัวเลข 4 หลัก

ส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีเครื่องหมายอย. นั้น ทางกฎหมายกำหนดให้จะต้องมีเลขที่จดแจ้ง/เลขที่ใบรับแจ้ง เพื่อแสดงบนฉลากของผลิตภัณฑ์สุขภาพ

 

วิธีการเช็กเครื่องหมาย อย. ของแท้ ทำอย่างไร ?


เราสามารถนำเครื่องหมาย อย. หรือเลขที่จดแจ้งบนผลิตภัณฑ์ไปเช็กได้ในเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ ระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หรือในเว็บไซต์อย. ที่ ตรวจเลขที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือทาง ORYOR Smart Application สามารถโหลดไปใช้ฟรี ๆ ทั้งระบบ iOS และ Android เมื่อโหลดและติดตั้งเสร็จการเปิดใช้งานง่ายมาก เพราะมีฟังก์ชั่น “ตรวจเลขที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” โดยเฉพาะ เวลาเช็กก็ใส่ให้ครบทั้งตัวอักษรและตัวเลขนะคะ ไม่งั้นเช็กไม่ได้ค่ะ และสามารถโทรเช็กได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือแอดไลน์ @FDAthai ก็ตรวจสอบเลข อย. ได้เหมือนกันค่ะ


 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้